วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2553

ประวัติ เขตหนองแขม



ปี พ.ศ.2456 ผู้้ใหญ่ช้าง นาควัชระ ซึ่งภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมื่นประสารธระราษฎร์ได้มอบที่ดินบริเวณปากคลองมหาศร หมู่ที่ 5 ตำบลหนองแขม ริมคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ ให้กับทางราชการเพื่อใช้ในการก่อสร้าง ที่ว่าการอำเภอหนองแขม และหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ อำเภอหนองแขม ก็ย้ายมาอยู่ในที่ทำการใหม่ ตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา...


หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมสำนักงานเขตแห่งนี้ จึงมีชื่อว่า "หนองแขม" ซึ่งจากประวัติและความเป็นมาของเขตหนองแขม ที่มีอายุมากถึง 100 ปี พบว่าใช้ชื่อนี้มาโดยตลอด ไม่เคยเปลี่ยนแปลง โดยเรียกตามสภาพท้องที่ในสมัยก่อนที่จะมีการจัดตั้งที่ว่าการอำเภอหนองแขม ซึ่งว่ากันว่า เป็ํนที่ราบลุ่มน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี และมีต้นแขมขึ้นอยู่ตามริมหนองน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก และในบริเวณนั้น ก็มีชาวบ้านขุดพื้นดินทำเป็นบ่อเอาไว้ สำหรับใช้กักเก็บน้ำจืดเพื่อนำมาใช้ในครัวเรือน เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีระบบน้ำประปา เหมือนปัจจุบัน ชาวบ้านเลยเรียกชื่อบ่อน้ำแห่งนั้นว่า "บ่อหนองแขม"

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ให้กระจายอำนาจ การปกครองจากส่วนกลาง ไปยังท้องถิ่นให้มากขึ้น ด้วยการแต่งตั้งให้ข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณเหมือนกับ ในอารยประเทศที่พระองค์ไปพบเห็นมา โดยพระองค์ทรงเล็งเห็นว่า พื้นที่ราบลุ่มบริเวณหนองแขม มีความอุดมสมบูรณ์ น่าจะใช้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาในย่านฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้ จึงทรงโปรดเกล้าให้มีการสถาปนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นอำเภอหนองแขม ขึ้นตรงต่อกระทรวงนครบาล (ปัจจุบันคือกระทรวงมหาดไทย) โดยแต่งตั้งให้ นายยอด อ่อนโอภาส เป็นนายอำเภอคนแรก ซึ่ง จากประวัติของอำเภอหนองแขม ระบุว่า ใช้สถานท่ีบริเวณหน้าบ้านพักคนงานของโรงสี เหลียงเฮงฮวดในปัจจุบันเป็นสถานที่ทำการ โดยตั้งอยู่ใกล้ๆ กับสถานีตำรวจหนองแขม


ในช่วงแรกของการสถาปนาอำเภอหนองแขม ได้มีการแบ่งการปกครองออกเป็น 4 ตำบล คือ
  • ตำบลหนองแขม มีขุนขตรหนองแขมเขตร์ เป็นกำนันปกครอง
  • ตำบลหนองค้างพลู มีขุนประเทศหนองแขมขันธ์ เป็นกำนันปกครอง
  • ตำบลหลักสอง มีขุนภิบาลเขตร์นคร เป็นกำนันปกครอง
  • และตำบลหลักหนึ่งซึ่ง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ตำบลบางแค มีขุนหนองแขมกนิษฐศร เป็นกำนันปกครอง

สมัยก่อนเส้นทางการสัญจรไปมาของประชาชนในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ จะใช้คลองภาษีเจริญเป็นเส้นทางหลัก และยังเป็นแหล่งน้ำที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ชาวหนองแขม และย่านใกล้เคียงได้ใช้ในการเพาะปลูกมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และไม่เพียงเท่านั้น คลองภาษีเจริญยังเป็นหนึ่งในเส้นทางที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้เสด็จประพาสไปยังจังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ส่งผลให้สองฝั่งคลองได้รักบ การพัฒนาให้เจริญอย่างรวดเร็ว มีทั้งโรงสีข้าว ตลาด และแหล่งชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณท่ีมีการตั้งที่ว่าการอำเภอหนองแขม ถือว่ามีความเจริญมากกว่าแหล่งอื่น เนื่องจากทำเลเหมาะแก่การค้าขาย และแลกเปลี่ยนสินค้า เพราะมีทั้งตลาด วัด ชุมชน โรงสี สถานีตำรวจ และที่ทำการอำเภอหนองแขม ว่ากันว่าอำเภอหนองแขมในสมัยนั้นเปรียบเสมือนประตูที่จะเชื่อมระหว่างหัวเมืองฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ กับเมืองหลวงเลยทีเดียว

อีก 7 ปีต่อมา คือ ปี พ.ศ. 2452 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดย ผู้ใหญ่ ช้าง นาควัชระ ซึ่งภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น หมื่นประสารธุระราษฎร์ ได้มอบที่ดินบริเวณปากคลองมหาศรหมู่ 5 ตำบลหนองแขม ริมคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ ให้กับทางราชการเพื่อใช้ในการก่อสร้างที่ว่าการอำเภอหนองแขม และหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ อำเภอหนองแขม ก็ย้ายมาอยู่ในที่ทำการใหม่ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ระบุถึงเหตุผลในการย้ายที่ทำการอำเภอมาอยู่ที่บริเวณปากคลองมหาศร เพราะเห็นว่าการขยายตัวของเมือง เป็นไปอย่างรวดเร็ว การตัดถนนหนทางกันมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากชานเมือง ฝั่งตะวันตกเข้าสู่กรุงเทพฯ กระทำได้สะดวกยิ่งขึ้นเป็นเหตุให้ความนิยมในการเดินทางด้วยเรือ ในคลองภาษีเจริญลดน้อยลง


ปี พ.ศ. 2481 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น อีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการยุบรวมอำเภอ และกิ่งอำเภอที่มีขนาดเล็ก และมีปริมาณงานไม่มากนัก เข้าไว้ด้วยกันเพือความสะดวกในการบริหารงาน และเพื่อความเหมาะสมในแต่ละท้องที่ ซึ่งอำเภอหนองแขมก็เป็นหนึ่งในอำเภอที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยถูกยุบเป็นกิ่งอำเภอ อยู่ในความปกครองของอำเภอ ภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี

เวลาผ่านไปราว 20 ปี ได้พระราชกฤษฎีกาตั้งกิ่งอำเภอหนองแขม ให้กลับมามีฐานะเป็นอำเภออีกครั้งหนึ่ง ขึ้นตรงกับจังหวัดธนบุรีเหมือนเดิม มาถึงปี พ.ศ. 2515 ได้มีการปรับปรุงพื้นที่การปกครองของกรุงเทพฯ เสียใหม่ ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ให้ยุบรวมนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เป็น กรุงเทพมหานคร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 24 เขต อำเภอหนองแขม จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น เขตหนองแขม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเขตหนองแขมก็เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยปี พ.ศ. 2521 ได้ย้ายที่ทำการเดิม จากปากคลองมหาศร ไปอยู่บริเวณริมถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู ซึ่งได้รับการบริจาคท่ีดินจำนวน 20 ไร่ มาจากนายล้อม ฟักอุดม เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้าง ที่ทำการสำนักงานเขตหนองแขม มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน


อ้างอิง : ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตหนองแขม, ความสุขที่หนองแขม, บจ.จ.เจริญการพิมพ์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น